หน่วยการเรียนรู้ที่1



ความหมายของกฎหมาย

กฎหมาย (อังกฤษ: law) หมายถึง กฎที่สถาบันหรือผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐตราขึ้น หรือที่เกิดขึ้นจากจารีตประเพณีอันเป็นที่ยอมรับนับถือ เพื่อใช้ในการบริหารประเทศ เพื่อใช้บังคับบุคคลให้ปฏิบัติตาม หรือเพื่อกำหนดระเบียบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือระหว่างบุคคลกับรัฐ


ความสำคัญของกฎหมาย


ในสังคมของมนุษย์นั้นมีสมาชิกจำนวนมากที่มีความแตกต่างกัน ทั้งด้านความคิดเห็นและพฤติกรรมต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีกฎระเบียบหรือกติการ่วมกัน เพื่อเป็นบรรทัดฐานสำคัญในการควบคุมความประพฤติของมนุษย์ และช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับสังคม ไม่ให้เกิดความวุ่นวาย กฎหมายมีความสำคัญต่อสังคมในด้านต่างๆ ดังนี้
1. กฎหมายสร้างความเป็นระเบียบและความสงบเรียบร้อยให้กับสังคมและประเทศชาติ เมื่ออยู่รวมกันเป็นสังคมทุกคนจำเป็นต้องมีบรรทัดฐาน ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติยึดถือเพื่อความสงบเรียบร้อย ความเป็นปึกแผ่นของกลุ่ม
2. กฎหมายเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ พลเมืองไทยทุกคนต้องปฏิบัติตนตามข้อบังคับของกฎหมาย ถ้าใครฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องได้รับโทษ กฎหมายจะเกี่ยวข้องกับ การดำรงชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย
3. กฎหมายก่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม คนเราทุกคนย่อมต้องการความ ยุติธรรมด้วยกันทั้งสิ้น การที่จะตัดสินว่าการกระทำใดถูกต้องหรือไม่นั้น ย่อมต้องมีหลักเกณฑ์ ฉะนั้น กฎหมายจึงเป็นกฎเกณฑ์สำคัญที่เป็นหลักของความยุติธรรม
4. กฎหมายเป็นหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าไปในทางใด หรือคุณภาพของพลเมืองเป็นอย่างไร จำเป็นต้องมีกฎหมายออกมาใช้บังคับ เพื่อให้ได้ผลตามเป้าหมายของการพัฒนาที่กำหนดไว้ ดังจะเห็นได้จากการที่กฎหมายได้กำหนดให้บุคคลมีสิทธิได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยรัฐเป็นผู้จัดการศึกษาให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายนั้น ย่อมส่งผลให้ คุณภาพด้านการศึกษาของประชาชนสูงขึ้น หรือการที่กฎหมายกำหนดให้ประชาชนทุกคนมีหน้าที่ พิทักษ์ปกป้อง และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย่อมทำให้สังคมและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนมีมาตรฐานดีขึ้น
ดังนั้น การที่ประเทศใดจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เป็นไปในแนวทางใดก็ตามถ้าได้มีบทบัญญัติของกฎหมายเป็นหลักการให้ทุกคนปฏิบัติตาม ก็ย่อมทำให้การพัฒนา คุณภาพชีวิตของประชาชนประสบผลสำเร็จได้สูงกว่าการปล่อยให้เป็นไปตามวิถีการดำเนินชีวิตของสังคมตามปกติ
ที่มาของกฎหมาย

ที่มาของระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร



1.กฎหมายลายลักษณ์อักษร ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร เป็นระบบที่สืบทอดมาจากกฎหมายโรมัน ซึ่งให้ความสำคัญกับตัวบทกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใช้โดยถูกต้องตามกระบวนการบัญญัติกฎหมาย ดังนั้นที่มาประการสำคัญของระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร ก็คือกฎหมายที่มีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งอาจมีหลายลักษณะด้วยกัน เช่น รัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง เป็นต้น


2.จารีตประเพณี ในบางครั้งการบัญญัติกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร จะให้ครอบคลุมทุกเรื่องเป็นไปได้ยาก จึงต้องมีการนำเอาจารีตประเพณี มาบัญญัติใช้เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรด้วย เช่น การชกมวยบนเวที ถ้าเป็นไปอย่างถูกต้องตามกติกา ถึงแม้ว่าคู่ต่อสู้จะบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็ไม่มีความผิด หรือแพทย์ที่ตัดแขนตัดขาคนไข้โดยที่คนไข้ยินยอมก็ไม่มีความผิด เป็นต้น เท่าที่ผ่านมายังไม่มีการฟ้องร้องคดีเรื่องเหล่านี้เลย ซึ่งคงจะเป็นเพราะจารีตประเพณีที่รู้กันโดยทั่วไปว่าเป็นเสมือนกฎหมาย


3.หลักกฎหมายทั่วไป ในบางครั้งถึงแม้จะมีกฎหมายลายลักษณ์อักษร และกฎหมายจารีตประเพณี มาใช้พิจารณาตัดสินความแล้วก็ตาม แต่ก็อาจไม่เพียงพอครอบคลุมได้ทุกเรื่อง จึงต้องมีการนำเอาหลักกฎหมายทั่วไป ซึ่งประเทศอื่น ๆ ที่มีความก้าวหน้าทางกฎหมาย ได้ยอมรับกฎหมายนั้นแล้ว มาปรับใช้ในการพิจารณาตัดสินคดีความด้วย เช่น หลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิ์ดีกว่าผู้รับโอน โจทย์พิสูจน์ไม่ได้ต้องปล่อยตัวจำเลย คดีอย่างเดียวกันต้องพิพากษาตัดสินเหมือนกัน ฯลฯ เป็นต้นที่มาของกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

ประเภทองค์ประกอบของ กฎหมาย

1.จารีตประเพณีถือว่าเป็นที่มาประการสำคัญของระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร เนื่องจากกฎหมายระบบนี้เกิดจากการนำเอาจารีตประเพณี ซึ่งคนในสังคมยอมรับและปฏิบัติสืบต่อกันมานาน มาใช้เป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีความ


2.คำพิพากษาของศาลจารีตประเพณีใดที่ถูกนำมาใช้เป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีความแล้ว ก็จะกลายเป็นคำพิพากษาของศาล ซึ่งคำพิพากษาบางเรื่องอาจถูกนำไปใช้เป็นหลัก หรือเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาตัดสินคดีความต่อ ๆ ไป คำพิพากษาของศาลจึงเป็นที่มาอีกประการหนึ่งของระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร


3.กฎหมายลายลักษณ์อักษร ในสมัยต่อ ๆ มาบ้านเมืองเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว การที่จะรอให้จารีตประเพณีเกิดขึ้นย่อมไม่ทันกาลบางครั้งจึงจำเป็นต้องสร้างกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นมาใช้ด้วย


4.ความเห็นของนักนิติศาสตร์ ระบบกฎหายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ยังยอมรับความเห็นของนักนิติศาสตร์มาใช้เป็นหลักในการตัดสินคดีความด้วย เพราะนักนิติศาสตร์เป็นผู้ที่ศึกษากฎหมายอยู่เสมอ เป็นผู้ที่มีความรู้ ความคิด มีเหตุผล ความเห็นของนักนิติศาสตร์ที่มีชื่อเสสียงและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ย่อมมีน้ำหนักพอที่จะนำไปใช้อ้างอิงในการพิจารณาตัดสินความได้


5.หลักความยุติธรรมหรือมโนธรรมของผู้พิพากษา ในระยะหลังที่บ้านเมืองเจริญขึ้นสภาพสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไป การใช้จารีตประเพณีและคำพิพากษาก่อน ๆ มาเป็นหลักในการพิจารณาตัดสินคดีความอาจไม่ยุติธรรม จึงเกิดศาลระบบใหม่ขึ้น ซึ่งศาลระบบนี้จะไม่ผูกมัดกับจารีตประเพณีหรือคำพิพากษาของศาลเดิม แต่จะยึดหลักความยุติธรรมและให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณีซึ่งเรียกว่ามโนธรรมของผู้พิพากษา(Squity)ซึ่งต่อมาได้รับการยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
กฎหมาย สามารถแยกองค์ประกอบ ออกได้เป็น ๔ ข้อคือ
๑. กฎหมายเป็นบทบัญญัติ.
๒. ผู้มีอำนาจตรากฎหมาย จะต้องเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ.
๓. บทบัญญัติที่กำหนดไว้ มี ๒ ประเภท คือ
(๑) บทบัญญัติ ที่ใช้ในการบริหารบ้านเมือง.
(๒) บทบัญญัติที่ใช้บังคับบุคคล ในความสัมพันธ์ระหว่างกัน (ไม่เกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง).
๔. กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องได้รับโทษ หรือ ต้องถูกบังคับให้ปฏิบัติตาม.
ซึ่งจะได้อธิบายตามลำดับไป
๑. กฎหมายเป็น บทบัญญัติ.
บทบัญญัติ เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในกฎหมาย การที่เราจะทราบว่า บทบัญญัติ คืออะไร เราคงต้องดูจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้นิยามความหมาย ของถ้อยคำที่เกี่ยวข้องไว้ว่า
“บท”
๐ เป็นคำนาม หมายความว่า ข้อความเรื่องหนึ่งๆ หรือ ตอนหนึ่ง
“บัญญัติ”
๐ เป็นคำนาม หมายความว่า ข้อความที่ตรา หรือ กำหนดขึ้นไว้เป็น ข้อบังคับ เป็นหลักเกณฑ์ หรือเป็นกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติ พุทธบัญญัติ บัญญัติ ๑๐ ประการ.
๐ เป็นคำกริยา หมายความว่า ตรา หรือ กำหนดขึ้นไว้เป็น ข้อบังคับ เป็นหลักเกณฑ์ หรือ เป็นกฎหมาย เช่น บัญญัติศัพท์ บัญญัติกฎหมาย.
“ข้อบังคับ” หรือ “กฎข้อบังคับ” หมายความว่า บทบัญญัติที่เป็นชั้นข้อบังคับ ซึ่งกำหนดขึ้นไว้เป็นระเบียบในการปฏิบัติ หรือดำเนินการตามกฎหมาย.
“บังคับ”
๐ เป็นคำกริยา หมายความว่า ใช้อำนาจสั่งให้ทำ หรือ ให้ปฏิบัติ, ให้จำต้องทำ.
“บทบัญญัติ” หมายความว่า ข้อความที่กำหนดไว้เป็น ลายลักษณ์อักษร ในกฎหมาย.
“ลายลักษณ์” หมายความว่า ตัวหนังสือ หรือเครื่องหมายเป็นรูปต่างๆ.
“อักษร” หมายความว่า ตัวหนังสือ, เครื่องหมายใช้ขีดเขียนแทนเสียง หรือ คำพูด.
จากคำนิยามความหมายของถ้อยคำ ที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ทำให้เราทราบว่า บทบัญญัติ คือข้อความ ซึ่งกำหนดขึ้นไว้เป็นระเบียบในการปฏิบัติ หรือดำเนินการ ซึ่งจะต้องมีการบังคับ หรือใช้อำนาจสั่งให้ทำ หรือ ให้ปฏิบัติ และจะต้องบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร การที่ กฎหมาย ต้องบันทึกไว้เป็น ตัวอักษร ก็เพื่อให้เป็นหลักฐานที่จะยกขึ้นมาอ้างอิงได้ในภายหลัง หากไม่มีลายลักษณ์อักษรก็จะต้องใช้วิธีจำเอาไว้ ซึ่งอาจหลงลืม หรือจำผิดเพี้ยนกันไป อันเป็นเหตุให้เกิดการโต้เถียงกัน และไม่มีทางหาข้อยุติได้.
๒. ผู้มีอำนาจตรากฎหมายจะต้องเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ
การที่เราจะทราบว่าใครบ้างเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด ที่มีอำนาจบัญญัติกฎหมาย เราต้องทราบเสียก่อนว่า อำนาจคืออะไร?
คำว่า “อำนาจ” มีหลายความหมาย คือ
๐ สิทธิ เช่น มอบอำนาจ.
๐ อิทธิพลที่จะบังคับให้ผู้อื่นต้องยอมทำตาม ไม่ว่าจะด้วยความสมัครใจหรือไม่.
๐ ความสามารถบันดาลให้เป็นไปตามความประสงค์ เช่น อำนาจบังคับของกฎหมาย อำนาจบังคับบัญชา.
๐ ความสามารถ หรือสิ่งที่สามารถทำหรือบันดาลให้เกิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ เช่น อำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และ สิ่งศักดิ์สิทธิ์.
๐ กำลัง, ความรุนแรง, เช่นชอบใช้อำนาจ.
๐ ความบังคับบัญชา เช่น อยู่ใต้อำนาจ.
๐ การบังคับ เช่น ขออำนาจศาล.
๓. บทบัญญัติที่เป็นกฎหมาย มี ๒ ประเภท คือ
(๑) บทบัญญัติที่ใช้ในการบริหารบ้านเมือง.
(๒) บทบัญญัติที่ใช้บังคับบุคคลในความสัมพันธ์ระหว่างกัน (ไม่เกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง)
(๑) กฎหมายที่ใช้ในการบริหารบ้านเมือง เป็น กฎหมายที่กำหนดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่าง บุคคลผู้มีอำนาจปกครอง กับ บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครอง กับ ผู้ถูกปกครอง และ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครอง กับผู้ปกครองด้วยกัน กฎหมายประเภทนี้ บัญญัติขึ้นเพื่อประโยชน์ในการบริหารประเทศโดยเฉพาะ ในทางวิชาการเรียกกันว่า “กฎหมายปกครอง”
กฎหมายปกครอง มีองค์ประกอบ ที่เป็นสาระสำคัญ ๕ ประการ คือ ๑. สถาบัน ๒. ตำแหน่ง ๓. หน้าที่ ๔. อำนาจ ๕. ความรับผิดชอบ.
(๒) กฎหมายที่ใช้บังคับบุคคลในความสัมพันธ์ระหว่างกัน เป็นกฎหมายที่กำหนดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลธรรมดา หรือ สามัญชน ด้วยกัน ทางวิชาการเรียกว่า “กฎหมายเอกชน”
กฎหมายเอกชน มีองค์ประกอบที่เป็นสาระสำคัญ ๔ ประการ คือ ๑. สถานภาพ ๒. สิทธิ ๓. หน้าที่ ๔. ความรับผิด
๔. กฎหมาย ต้องมีสภาพบังคับ
มาตรการบังคับของกฎหมาย
กฎหมายได้กำหนดมาตรการ และ วิธีการบังคับไว้ ๒ ประเภทคือ
(๑) การลงโทษ
(๒) การบังคับให้ปฏิบัติตามข้อบังคับ.
(๑) การลงโทษ ผู้ที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายอาญา จะต้องรับผิดในทางอาญา โดยจะต้องถูกลงโทษตามกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้
คำว่า "โทษ" หมายความว่า มาตรการที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับ ดำเนินการแก่ ผู้กระทำความผิดอาญา
โทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายอาญา มี ๕ ประการคือ
๑. ประหารชีวิต ๒. จำคุก ๓. กักขัง ๔. ปรับ ๕. ริบทรัพย์สิน
คำว่า " ลงโทษ" หมายความว่า ทำโทษ เช่น จำขัง จำคุก เป็นต้น.
(๒) การบังคับให้ปฏิบัติตามข้อบังคับ การบังคับให้ปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎหมาย เป็นสภาพบังคับทางกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่ การบังคับให้ชำระหนี้ หากไม่ชำระจะถูกบังคับยึดทรัพย์สินออกขายทอดตลาด เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ หรืออาจถูกฟ้องให้ตกเป็นบุคคลล้มละลาย เป็นต้น ไม่มีการลงโทษเหมือนกรณีฝ่าฝืนกฎหมายอาญา.
เว้นแต่ ในชั้นบังคับคดี บางกรณี คดีที่ศาลออกคำบังคับให้ผู้แพ้คดี หรือ ลูกหนี้ตามคำพิพากษา (กระทำการ หรือ งดเว้นกระทำการ) เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามคำบังคับแล้ว ผู้แพ้คดี หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา จงใจไม่ปฏิบัติตามหมายบังคับคดี และผู้ชนะคดี หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่มีวิธีบังคับอื่นใดที่จะใช้บังคับได้ กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้อำนาจศาลที่จะออกหมายจับผู้แพ้คดี หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษามากักขังไว้ เพื่อบังคับ แต่ห้ามมิให้กักขังแต่ละครั้งเกินกว่า หกเดือน นับแต่วันจับหรือกักขัง แล้วแต่กรณี (ป.วิแพ่ง. มาตรา ๒๙๗, ๓๐๐.)