วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

หน่วยการเรียนที่ 3

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน
กฎหมายแพ่ง เป็นกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องบุคคล ทรัพย์สิน นิติกรรม สัญญา ละเมิด ครอบครัว และมรดก ที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย
กฎหมายอาญา เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความผิดและโทษ โดยกำหนดผู้กระทำผิดจะได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนด กฎหมายอาญาจึงมีความสำคัญช่วยให้ประชาชนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและปลอดภัย กฎหมายเกี่ยวกับบุคคล บุคคล หมายถึง สิ่งที่กฎหมายกำหนดให้มีสิทธิหน้าที่ได้ตามกฎหมายสภาพบุคคลเริ่มต้นตั้งแต่แรกคลอดเป็นทารกและสิ้นสุดสภาพบุคคลเมื่อตายหรือสาบสูญตาม คำสั่งของศาล การสาบสูญ คือ การหายจากภูมิลำเนาในภาวะปกติเกิน 7 ปี หรือหายจากภาวะที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น เรืออับปาง ภัยพิบัติทางธรรมชาติ 3 ปี ถือว่าเป็นคนสาบสูญได้ ในกรณีที่ผู้สาบสูญกลับมา สามารถขอร้องต่อศาลให้ถอนคำสั่งสาบสูญได้

บุคคลแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. บุคคลธรรมดา หมายถึง บุคคลที่มีความสามารถ สามารถทำนิติกรรมได้ตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนประกอบของสภาพบุคคล
1. ชื่อตัว - ชื่อสกุล
2. สัญชาติ ได้มาโดยการเกิด การสมรส การแปลงชาติ
3. ภูมิลำเนา คือถิ่นที่อยู่ประจำและแน่นอนของบุคคล
4. สถานะ คือ ฐานะของบุคคลตามกฎหมายซึ่งทำให้เกิดสิทธิ เช่น โสด สมรส หย่า
2. นิติบุคคล หมายถึง หมู่คนหรือสิ่งที่กฎหมายรับรองสภาพอย่างบุคคลธรรมดา และมีสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบในนามของกิจการ เช่น กระทรวง ทบวง กรม บริษัท สมาคม มูลนิธิ และวัด เป็นต้น
ทรัพย์และทรัพย์สิน ทรัพย์ หมายถึง วัตถุ หรือสิ่งที่มีรูปร่าง ทรัพย์สิน หมายถึง ทรัพย์และวัตถุที่ไม่มีรูปร่าง เช่น ลิขสิทธิ์ (ทรัพย์สินทางปัญญา)
ประเภทของทรัพย์สิน
1. อสังหาริมทรัพย์ หมายถึง ทรัพย์สินที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้
2. สังหาริมทรัพย์ หมายถึง ทรัพย์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้
นิติกรรม
นิติกรรม คือการแสดงเจตนาผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคลโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับสิทธิ์ หลักการทำนิติกรรม
1. มีการแสดงเจตนาของบุคคล โดยการพูด เขียน หรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
2. การกระทำนั้นต้องทำด้วยความสมัครใจ
3. มีเจตนาที่จะให้เกิดผลตามกฎหมาย
นิติกรรมที่เป็นโมฆะและโมฆียะ
1. นิติกรรมที่เป็น โมฆะ คือ นิติกรรมที่ไม่ได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ตั้งแต่แรก ซึ่งไม่เกิดผลทางกฎหมาย
2. นิติกรรมที่เป็น โมฆียะ คือ นิติกรรมที่มีผลสมบูรณ์จนกว่าจะถูกบอกล้าง เช่น นิติกรรมที่ผู้เยาว์กระทำโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม เมื่อมีการบอกล้างแล้ว โมฆียะกรรมจะกลายเป็นโมฆะ
สัญญาต่าง ๆ
ประเภทของสัญญา
สัญญาซื้อขายธรรมดา แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
1. คำมั่นว่าจะซื้อหรือจะขาย คือ มีการให้คำมั่นเสนอว่าจะซื้อหรือจะขาย
2. สัญญาจะซื้อจะขาย คือ สัญญาตกลงกันในสาระสำคัญของสัญญาจะซื้อจะขาย
3. สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด คือ เป็นสัญญาที่ตกลงกันตามสาระสำคัญของสัญญากันเรียบร้อยแล้ว
สัญญาซื้อขายเฉพาะอย่าง แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ
1. สัญญาซื้อขายเงินสด คือ สัญญาที่ผู้ซื้อตกลงชำระราคาสินค้าเป็นเงินสดทันที เมื่อมีการซื้อขายกัน
2. สัญญาซื้อขายผ่อนส่ง คือ สัญญาการซื้อขายที่มีการส่งมอบทรัพย์สินให้กับผู้ซื้อแล้ว แต่ผู้ซื้อยังไม่ได้ชำระราคา อาจตกลงผ่อนชำระเป็นงวด ๆ
3. สัญญาขายฝาก คือ สัญญาซื้อขายที่ผู้ขายฝากต้องการเงินจำนวนหนึ่งจากผู้ซื้อ จึงนำทรัพย์สินมาโอนให้กับผู้ซื้อฝาก และผู้ขายฝากมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินกับคืนได้ภายในเวลาที่ตกลงกันไว้ หากครบกำหนดไถ่คืนแล้ว ผู้ขายฝากไม่มาไถ่คืน ทรัพย์สินนั้นจะตกเป็นของผู้ซื้อฝากโดยเด็ดขาด
4. การขายทอดตลาด คือ การซื้อขายที่ประกาศให้ประชาชนมาประมูลซื้อสู้ราคากันโดยเปิดเผย ประกอบด้วยบุคคล 4 ฝ่าย คือ
- ผู้ขายซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สิน หรือผู้มีอำนาจขายทรัพย์สินได้
- ผู้ทอดตลาด
- ผู้สู้ราคา
- ผู้ซื้อ
สัญญาเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ แบ่งออกเป็น
1. สัญญาเช่าทรัพย์
- ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ไม่ต้องมีหลักฐานเป็นตัวหนังสือ
- ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ
2. สัญญาเช่าซื้อ คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์นั้นให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินหรือจะให้ทรัพย์นั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าซื้อ โดยมีเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว การทำสัญญาเช่าซื้อต้องทำหนังสือลงลายมือชื่อในสัญญาทั้งสองฝ่าย
สัญญากู้ยืมเงิน
เป็นสัญญาที่ผู้กู้และผู้ให้กู้ได้ตกลงกันในการยืมเงินและจะคืนเงินให้ตามเวลาที่กำหนดไว้โดยมีการเสียดอกเบี้ย การกู้ยืมเงินตั้งแต่ 2,000 บาทขึ้นไป ต้องมีหลักฐานลงลายมือชื่อผู้กู้ไว้เป็นสำคัญ

กฎหมายเกี่ยวกับครอบครัว
การหมั้น คือ การทำสัญญาระหว่างชายหญิงว่าจะสมรสกัน จะทำได้เมื่อชายและหญิงอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ถ้าชายและหญิงเป็นผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง การสมรส การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์หากมีอายุต่ำกว่านี้ต้องศาลอนุญาต ทรัพย์สินของสามีและภรรยา แบ่งเป็น
1. สินส่วนตัว คือ ทรัพย์สินที่สามีหรือภรรยามีก่อนสมรส
2. สินสมรส คือ ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างการสมรส การสิ้นสุดการสมรส
1. ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ
2. คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่กรรม
3. การหย่า
- สิทธิและหน้าที่ของบิดาและมารดา บิดามารดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตร
- สิทธิและหน้าที่ของบุตร บุตรมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเป็นการตอบแทน

กฎหมายเรื่องมรดก
มรดก คือ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่าง ๆ ของผู้ตายหรือเจ้าของมรดก ซึ่งเมื่อเจ้าของมรดกถึงแก่ความตาย มรดกย่อมตกทอดแก่ทายาททันทีที่ตาย ทายาท คือ ผู้มีสิทธิได้รับมรดก 2 ประเภท 1. ทายาทโดยธรรม คู่สมรสและญาติสนิท 2. ทายาทตามพินัยกรรม ผู้มีสิทธิ์ได้รับมรดกตามพินัยกรรมระบุไว้ พินัยกรรม คือ เอกสารที่เจ้าของมรดกแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์
กฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน
1. กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ เป็นการกำหนดสิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ของบุคคล -สิทธิ หมายถึง ประโยชน์ซึ่งกฎหมายรับรอง คุ้มครองให้กับบุคคล เช่น สิทธิทางการเมือง สิทธิในทรัพย์สิน -เสรีภาพ หมายถึง การกระทำของบุคคลที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย เช่น เสรีภาพในร่างกาย เสรีภาพในการพูด การพิมพ์ การเขียน การนับถือศาสนา
-หน้าที่ คือ สิ่งที่บุคคลจะต้องกระทำหรืองดเว้นกระทำ ในฐานะสมาชิกของรัฐ เช่น การเสียภาษีอากร การป้องกันประเทศ
2. กฎหมายเลือกตั้ง เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมการจัดและดำเนินการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและยุติธรรม
3. กฎหมายเกี่ยวกับทะเบียนราษฎร์
- เมื่อมีคนเกิดต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 15 วัน
- เมื่อมีคนตายต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 24 ชม.
- เมื่อย้ายที่อยู่อาศัยต้องแจ้งภายใน 15 วัน 4. กฎหมายเกี่ยวกับบัตรประชาชน
- บุคคลที่มีสัญชาติไทยอายุ ตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 70 ปี ต้องขอมีบัตรประชาชน
- การเปลี่ยนชื่อตัว
- ชื่อสกุล ต้องขอทำบัตรใหม่ภายใน 60 วั น
- บัตรสูญหายต้องขอเปลี่ยนใหม่ ภายใน 60 วัน บุคคลที่ไม่ต้องมีบัตรประชาชน ได้แก่ พระภิกษุ ข้าราชการ นักโทษ และบุคคลที่มีอายุเกิน 70ปี ขึ้นไป 5. กฎหมายเกี่ยวกับการรับราชการทหาร
- ชายไทยที่มีสัญชาติไทย อายุย่างเข้า 18 ปีบริบูรณ์ ให้ไปแสดงตัวเพื่อลงบัญชีพลทหารกองเกินภายในเขตภูมิลำเนาของตน
- เมื่ออายุย่างเข้า 21 ปี ต้องไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกและต้องทำการตรวจเลือกเพื่อเข้าเป็นทหารกองประจำการตามกำหนดนัด
*บุคคลที่ไม่ต้องเป็นทหารประจำการ ได้แก่ พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ คนพิการทุพพลภาพ บุคคลที่ขาดความสามารถบางประการที่ไม่อาจเป็นทหารได้
6. กฎหมายเกี่ยวกับการรักษาความสะอาดของชุมชน และสิ่งแวดล้อม
- พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เช่น การสร้าง ดัดแปลง ต่อเติม รื้อถอน ต้องขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น
- พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2518
- พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2522
กฎหมายทะเบียนราษฎร
พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 เป็นกฎหมายสำคัญที่กำหนดระเบียบปฏิบัติ การแจ้งเกิด การแจ้งตาย การย้ายที่อยู่ การจัดทำทะเบียนคนและทะเบียนบ้าน เป็นกฎหมายที่ใกล้ตัวเกี่ยวข้องกับตนเองและสังคมเป็นอย่างมาก เมื่อคนเกิดมาจะต้องทำอย่างไร เป็นหน้าที่ของใครที่จะแจ้งเกิด ไปแจ้งที่ไหน หรือเมื่อมีคนตายผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องปฏิบัติอย่างไร เมื่อต้องการย้ายที่อยู่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างไร
1. ประโยชน์ของกฎหมายเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎร
การที่กฎหมายเกี่ยวกับทะเบียนราษฎรได้กำหนดให้มีทะเบียนคนเกิด ทะเบียนคนตาย ทะเบียนบ้านจะเป็นประโยชน์ทำให้รู้ข้อมูลต่างๆ ของประชากรในประเทศ โดยรู้ว่าในบ้านหนึ่งในท้องที่หนึ่งมีประชากรกี่คน เป็นเพศอะไรบ้าง แต่ละคนมีความสัมพันธ์กันอย่างไร มีการโยกย้ายออกไปหรือเข้ามาในท้องถิ่นนั้นอย่างไร มีจำนวนประชากรเพิ่มหรือลดลงจากการเกิดการตายเท่าใด จำนวนประชาการในแต่ละท้องถิ่นมีจำนวนมากน้อยเพียงไร ซึ่งความรู้ในข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายปกครองและฝ่ายบริหารบ้านเมือง เพื่อที่จะเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศต่อไป
กรณีตัวอย่าง การพัฒนาด้านการศึกษา จากการที่รู้ข้อมูลว่าจำนวนประชากรในแต่ละท้องถิ่นมีความหนาแน่นเพียงไร มีอัตราการเพิ่มอย่างไร ก็สามารถเป็นข้อมูลของรัฐบาลที่จะให้งบประมาณในด้านการสร้างโรงเรียน หรือในด้านการคมนาคม การที่จะให้มีการพัฒนาด้านการสร้างถนนหนทางไปในท้องถิ่นต่างๆ ก็ต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนประชากร ความหนาแน่นของบ้านเรือน เหล่านี้เป็นต้น หรือในด้านสาธารณสุขในเรื่องของการป้องกันโรคระบาด เมื่อในท้องที่ใดมีการแจ้งตายด้วยโรคระบาดก็สามารถเร่งให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดให้แก่คนในท้องถิ่นนั้นได้โดยรวดเร็วเพื่อป้องกันโรคระบาด เป็นต้น
2. คนเกิด
2.1 การแจ้งเกิด เมื่อมีคนเกิดให้แจ้งเกิดดังต่อไปนี้
1) คนเกิดในบ้าน ให้เจ้าบ้านหรือบิดมารดาแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่คนเกิดในบ้านภาย 15 วันนับแต่วันเกิดในกรณีคนเกิดในโรงพยาบาล ซึ่งในโรงพยาบาลบางแห่งเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลจะบริการไปแจ้งเกิดต่อนายทะเบียนท้องที่ที่คนเกิด โดยปฏิบัติตามกำหนดเวลาดังกล่าว หรือถ้าเป็นโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร บางแห่งจะมีสำนักงานทะเบียนท้องที่นั้นประจำอยู่ที่โรงพยาบาล โดยมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ในด้านบริการรับแจ้งเกิด
2) คนเกิดนอกบ้าน ให้บิดาหรือมารดาแจ้งต่อนายทะเบียน ผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีคนเกิดนอกบ้าน หรือแห่งท้องที่ที่จะพึงแจ้งได้ภายใน 15 วันนับแต่วันเกิด ในกรณีจำเป็นไม่อาจแจ้งได้ตามกำหนดให้แจ้งภายหลังได้ แต่ต้องไม่เกิน 30 วันนับแต่วันเกิด ถ้าบิดามารดาประสงค์จะเปลี่ยนชื่อบุตรนั้น ให้แจ้งภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่แจ้งชื่อคนเกิดต่อนายทะเบียน และให้นายทะเบียนจัดการเปลี่ยนชื่อให้ โดยต้องเสียค่าธรรมเนียม 25 บาท
3) ผู้ที่พบเด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กอ่อนซึ่งถูกทอดทิ้ง ให้นำเด็กนั้นไปส่งและแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ประชาสงเคราะห์แห่งท้องที่ที่พบเด็กนั้นโดยเร็ว
2.1 สถานที่แจ้งเกิด
1) ในเขตเทศบาล ให้แจ้งที่สำนักทะเบียนท้องถิ่นซึ่งตั้งอยู่ ณ สำนักงานเทศบาล
2) นอกเขตเทศบาล ให้แจ้งที่สำนักทะเบียนตำบล ซึ่งได้แก่ บ้านของกำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือข้าราชการอื่นที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งให้เป็นนายทะเบียนตำบล
3) ในกรุงเทพมหานคร ให้แจ้งที่สำนักทะเบียนท้องถิ่น ซึ่งตั้งอยู่ ณ สำนักงานเขตการแจ้งเกิดในกรณีคนเกิดในบ้าน เป็นหน้าที่ของเจ้าบ้านแต่จะมอบหมายให้ผู้ใดไปแจ้งแทนก็ได้ การไปแจ้งเกิดกรณีคนเกิดในบ้าน ผู้แจ้งต้องนำสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านไปด้วยทุกครั้ง เมื่อนายทะเบียนรับแจ้งการเกิดแล้ว จะมอบสูติบัตรให้แก่ผู้แจ้งเป็นหลักฐานสูติบัตร เป็นเอกสารสำคัญของทางราชการและมีประโยชน์มาก เพราะเป็นเอกสารที่แสดงถึงชื่อตัว ชื่อสกุล สัญชาติ วัน เดือน ปีเกิด ชื่อตัว ชื่อสกุล และสัญชาติของบิดามารดา ต้องเก็บรักษาไว้ให้ดีเพื่อนำไปแสดงเป็นหลักฐานได้ทุกโอกาสตราบเท่าที่มีชีวิตอยู่
3. คนตาย
3.1 การแจ้งตาย เมื่อมีคนตายให้แจ้งตายดังต่อไปนี้
1) คนตายในบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีคนตายภายในเวลา 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาตาย ในกรณีที่ไม่มีเจ้าบ้านให้ผู้พบศพเป็นผู้แจ้งการตายภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาพบศพ
2) คนตายนอกบ้าน ให้บุคคลที่ไปกับผู้ตายหรือผู้พบศพแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่ตายหรือพบศพแล้วแต่กรณี หรือแห่งท้องที่ที่จะพึงแจ้งได้ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เวลาตายหรือพบศพ หรือจะแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจก็ได้ ถ้าในท้องที่ใดการคมนาคมไม่สะดวก ผู้อำนวยการทะเบียนกลางอาจขยายเวลาออกไปตามที่เห็นสมควร แต่ต้องไม่เกิน 7 วัน นับแต่เวลาตายหรือเวลาพบศพ การแจ้งตายกรณีคนตายในบ้าน เจ้าบ้านจะมอบหมายให้ผู้ใดไปแจ้งแทนก็ได้ โดยผู้แจ้งจะต้องนำสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านไปด้วย
3.2 สถานที่แจ้งตาย
1) ในเขตเทศบาล ให้แจ้งที่สำนักทะเบียนท้องถิ่นซึ่งตั้งอยู่ ณ สำนักงานเทศบาล
2) นอกเขตเทศบาล ให้แจ้งที่สำนักทะเบียนตำบล ซึ่งได้แก่ บ้านของกำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือข้าราชการอื่นที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งให้เป็นนายทะเบียนตำบล
3) ในกรุงเทพมหานคร ให้แจ้งที่สำนักทะเบียนท้องถิ่น ซึ่งตั้งอยู่ ณ สำนักงานเขต การแจ้งตายในกรณีคนตายในบ้าน เป็นหน้าที่เจ้าบ้านแต่จะมอบหมายให้ผู้อื่นที่อยู่ในบ้านเดียวกันไปดำเนินการแทน ไม่ต้องทำหนังสือมอบอำนาจ ถ้าจะมอบให้บุคคลอื่นที่ไม่ได้อยู่ในบ้านเดียวกันไปดำเนินการแทน ต้องทำหนังสือมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษร
การแจ้งตายในกรณีคนตายในบ้าน และผู้นั้นมีชื่อยู่ในทะเบียนบ้านด้วย เมื่อไปแจ้งต้องต้องนำสำเนาทะเบียนฉบับเจ้าบ้านไปด้วย และเมื่อนายทะเบียนได้รับแจ้งการตายจะมอบมรณบัตรให้แก่ผู้แจ้งเป็นหลักฐานมรณบัตร เป็นเอกสารสำคัญของทางราชการ ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการตายของบุคคล
4. การย้ายที่อยู่
การย้ายที่อยู่จะต้องมีการแจ้งการย้ายออกจากทะเบียนบ้านเดิม แล้วจะต้องแจ้งย้ายเข้าในทะเบียนบ้านใหม่ซึ่งผู้นั้นย้ายไปอยู่ การแจ้งย้ายที่อยู่ให้ดำเนินการต่อไปนี้
4.1 การย้ายออก เมื่อมีบุคคลใดบ้ายที่อยู่ออกจากบ้านใด กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าของบ้าน หรือผู้แทนที่จะต้องแจ้งย้ายที่อยู่ดังกล่าวต่อนายทะเบียนผู้มีหน้าที่รับแจ้งภายในเวลาไม่เกิน 15 วัน นับแต่วันย้ายออก ถ้าเจ้าบ้านไม่แจ้งภายในกำหนดเวลา มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
4.2 การย้ายเข้า เมื่อบุคคลใดย้ายที่อยู่เข้ามาอยู่ในบ้านใดบ้านหนึ่ง กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าบ้านที่จะต้องแจ้งการย้ายเข้าที่อยู่ดังกล่าวภายใน 15 วัน นับแต่วันย้ายเข้า ถ้าเจ้าบ้านไม่แจ้งในกำหนดเวลา มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
การแจ้งย้ายผู้ใดเข้ามาอยู่ในบ้าน เจ้าบ้านจะต้องนำหลักฐานการย้ายออกของผู้นั้นไปแสดงต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งด้วย
5. การขอแก้ทะเบียนราษฎร
ในกรณีที่ทะเบียนคนเกิด ทะเบียนบ้าน หรือเอกสารอื่นใดเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎรของบุคคลไม่ตรงกับหลักฐานที่มีอยู่ ให้ไปติดต่ออำเภอหรือเทศบาลแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง ในการติดต่อทางราชการ เพื่อการนี้ควรนำหลักฐานเอกสารของทางราชการที่มีอยู่ไปแสดง เช่น
1.สูติบัตร มรณบัตร
2.บัตรประจำตัวประชาชน
3.ใบสำคัญทางทหาร
4.เอกสารการสมรา การหย่า
5.สำเนาทะเบียนบ้าน
6.ใบสุทธิ
7.หลักฐานเกี่ยวกับสัญชาติ
8.หนังสือเดินทางมาหรือไปต่างประเทศ
9.หลักฐานอื่นๆ ถ้ามี
สรุปสาระสำคัญ
1. คนเกิดในบ้าน ให้เจ้าบ้านหรือบิดมารดาแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่คนเกิดในบ้านภาย 15 วันนับแต่วันเกิด
2. คนตายให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีคนตายภายในเวลา 24 ชั่วโมง
3. สูติบัตร เป็นเอกสารแสดงถึง ชื่อตัว ชื่อสกุล สัญชาติ วัน เดือน ปีเกิด ชื่อตัว ชื่อสกุล และสัญชาติของบิดามารดา เป็นเอกสารสำคัญของทางราชการและมีประโยชน์มาก ต้องเก็บรักษาไว้ให้ดีเพื่อนำไปแสดงเป็นหลักฐานได้ทุกโอกาส
4. มรณบัตร เป็นเอกสารสำคัญของทางราชการ ซึ่งเป็นหลักฐานแสดงรายเอียดเกี่ยวกับการตายของบุคคล
5. เมื่อมีบุคคลใดย้ายที่อยู่ออกจากบ้านใด เจ้าบ้านจะต้องแจ้งย้ายที่อยู่ต่อนายทะเบียนผู้มีหน้าที่รับแจ้งภายในเวลาไม่เกิน 15 วัน นับแต่วันย้ายออก
6. เมื่อมีบุคคลใดย้ายที่อยู่เข้ามาในบ้านใด เจ้าบ้านตะต้องแจ้งการย้ายเข้าที่อยู่ภายใน 15 วัน นับแต่วันย้ายเข้า
กฎหมายของการเลือกตั้ง
สถานะของกฎหมายเลือกตั้งภายหลังการยึดอำนาจการปกครอง
รัฐธรรมนูญถูกยกเลิกการใช้บังคับ และส่งผลให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดตามไปด้วย เนื่องจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) มิได้ออกประกาศให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลใช้บังคับอยู่ต่อไป
กฎหมายเลือกตั้งในขณะนี้จึงคงอยู่แต่เฉพาะพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2546
หัวข้อ
โทษทางอาญาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
แนวทางการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง
วิธีการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิด
วัตถุประสงค์และลักษณะพิเศษของกฎหมายเลือกตั้ง
ตามมาตรา 11
สุจริต ไม่มีการโกง การใช้เงินซื้อเสียง ฯลฯ
เที่ยงธรรม ไม่มีการกลั่นแกล้ง ใส่ร้ายป้ายสี เอารัดเอาเปรียบ ฯลฯ
เรียบร้อย ไม่มีความปั่นป่วน วุ่นวาย
เป็นกฎหมายมหาชน ถือการคุ้มครองประโยชน์ของมหาชนเป็นหลักยิ่งกว่าเอกชน
ใบเหลืองและใบแดงตามกฎหมายเลือกตั้ง
ใบเหลือง คือ มติคณะกรรมการการเลือกตั้งให้จัดการเลือกตั้งใหม่ (มาตรา 95)
ใบแดง คือ มติคณะกรรมการการเลือกตั้งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งหนึ่งปีและให้จัดการเลือกตั้งใหม่ (มาตรา 96)
มติ กกต.เกี่ยวกับใบเหลืองและใบแดง ไม่ใช่คำวินิจฉัยว่าผู้สมัครทำผิดทางอาญา เว้นแต่จะมีพยานหลักฐาน ฯลฯ
กฎหมายอาญากับการเลือกตั้ง
“No crime, No punishment, without Law”
ไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ
Due Process of Law
หลักนิติธรรมตามวิธีพิจารณาความอาญา
1. โทษทางอาญาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง สามารถจำแนกประเภทความผิดที่มีโทษทางอาญาได้ตามพฤติการณ์ที่พบว่ามีการร้องเรียนการกระทำความผิด ดังนี้
การกระทำความผิดของผู้สมัครรับเลือกตั้งเองหรือผู้สนับสนุน
การกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่
การกระทำความผิดของบุคคลอื่นโดยทั่วไป
การกระทำความผิดของผู้สมัครรับเลือกตั้งเองหรือผู้สนับสนุน เช่น
ตามมาตรา 57
การ จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ แก่ผู้ใดหรือแก่ชุมชน วัด สถานศึกษา (1) และ (2)
หาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่าง ๆ (3)
เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยง (4)
หลอกลวง บังคับ ข่มขู่ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้าย (5)
การจัดยานพาหนะรับและหรือส่งผู้ใช้สิทธิ ตามมาตรา 58
การกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่
ใช้ตำแหน่งหน้าที่กระทำการใด ๆ อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร (มาตรา 60) เช่น ลงชื่อแทนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยทุจริต แจ้งจำนวนผู้มาแสดงตนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งโดยผิดจากความเป็นจริง การกาบัตรเลือกตั้งที่เหลืออยู่โดยทุจริต ฯลฯ
การใช้บัตรเลือกตั้งปลอม การพิมพ์บัตรเลือกตั้งเกินกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิ
การเปลี่ยนหีบบัตรในระหว่างการจัดส่งหีบบัตรมายังหน่วยนับคะแนน
การจงใจนับบัตรเลือกตั้ง อ่านบัตรเลือกตั้ง นับคะแนนเลือกตั้ง หรือรวมคะแนนเลือกตั้งผิดจากความจริง
การกระทำความผิดของบุคคลอื่นโดยทั่วไป
การจ่าย แจก เงินหรือสิ่งของ การจัดเลี้ยง (มาตรา 81)
เรียก รับ เพื่อลงคะแนน หรือไม่ลงคะแนน (มาตรา 82)
การขัดขวาง หน่วงเหนี่ยวผู้ใช้สิทธิ (มาตรา 80)
2. แนวทางการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง
หลักการ
ต้องนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้ตามที่กฎหมายบัญญัติอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน
เจ้าหน้าที่ต้องไม่มีอคติทั้ง 4 (คือ ชอบ ชัง กลัว โลภ) ในการดำเนินการกับผู้กระทำผิด
ต้องแสวงหาพยานหลักฐานที่เพียงพอต่อการพิสูจน์ความผิดของจำเลย อย่าให้มีข้อสงสัยว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่
อุปสรรค
ผู้กระทำผิดมักเป็นลูกน้อง หัวคะแนน พวกพ้อง หรือญาติพี่น้องของนักการเมืองซึ่งมีอิทธิพลในพื้นที่
มีเรื่องร้องเรียนแต่ละเขตเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก ทำให้ระยะเวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานแต่ละเรื่องมีน้อย
พยาน หลักฐานที่ชัดแจ้งแสดงถึงการกระทำผิด เช่น ภาพจากกล้องวิดีโอ ภาพถ่าย เทปบันทึกเสียง ฯลฯ มีน้อยไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน
3. วิธีการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำผิด
กกต.ควรขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่นอกพื้นที่เพื่อทำหน้าที่เป็นชุดรับแจ้งเหตุ และจับกุมการกระทำความผิดในช่วงหาเสียงเพิ่มเติมนอกเหนือจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่
การสืบสวนอาจต้องใช้อาสาสมัครในการเก็บข้อมูลอย่างลับ ๆ และใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เช่น กล้องวิดีโอ mp3 ที่บันทึกเสียงได้ เป็นต้น เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี
การสอบสวน เจ้าหน้าที่ควรต้องสอบให้ถึงวัตถุประสงค์หรือมูลเหตุจูงใจในการกระทำผิดกฎหมายการเลือกตั้งอย่างชัดเจน เช่น การจัดเลี้ยง การบริจาคเงินหรือสิ่งของ โดยอ้างว่าเป็นไปตามวาระแห่งประเพณีนั้น ผู้ถูกกล่าวหาได้จัดงานหรือบริจาคเงินหรือสิ่งของเช่นนี้เรื่อยมาเป็นปกติ หรือไม่
การตั้งคำถาม และการสอบสวน ควรต้องให้ผู้ถูกกล่าวหานำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง
การสอบสวนผู้ถูกกล่าวหา ควรมีการบันทึกเทปวิดีโอไว้ด้วย เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในศาลที่แสดงถึงพฤติการณ์ของจำเลย เพื่อเพิ่มน้ำหนัก และความน่าเชื่อถือให้มากขึ้น ทั้งทำให้การกลับคำให้การทำได้ยากขึ้น
กกต.ควรกำหนดแนวทางและวิธีปฏิบัติในการตรวจสอบบัญชีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ให้ถูกต้องและเคร่งครัดยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันการใช้เงินในการเลือกตั้งมากเกินสมควร ซึ่งเป็นการเอาเปรียบผู้สมัครรายอื่น รวมทั้งจัดให้มีการฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ของ กกต.อย่างทั่วถึงและเพียงพอ
อุดมการณ์ของเจ้าหน้าที่ กกต.
กกต.เป็นหัวใจที่จะประกันให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม
เจ้าหน้าที่ กกต.จึงต้องเป็นกลาง มีเหตุผล และเป็นธรรม
การทำงานของ กกต.จึงเป็นการทำงานเพื่อชาติ เพื่อประชาชน
ไม่ใช่เพื่อคนกลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง
กฎหมายของพรรคการเมือง
พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511
ที่มา

เนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2511 ได้รับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองไว้ โดยกำหนดให้การจัดตั้งและการดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายพรรคการเมือง ฉะนั้นในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2511 จึงมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติพรรคการเมืองขึ้น เป็นฉบับที่สองของประเทศ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

สาระสำคัญ

พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511 ยังคงยึดมั่นในหลักการที่ให้พรรคการเมืองต้องจดทะเบียน แต่วิธีการในการขอจดทะเบียนในพระราชบัญญัติฉบับนี้มีรายละเอียดแตกต่างไปจากพระราชบัญญัติฉบับก่อนกล่าวคือ ใช้วิธีการจดทะเบียนทำนองเดียวกับการขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัด โดยแบ่งขั้นตอนการจดทะเบียนเป็น 2 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนแรก เป็นขั้นตอนเตรียมการ โดยกำหนดว่าบุคคลสัญชาติไทยที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปจำนวนตั้งแต่ 15 คนขึ้นไป หากมีความประสงค์จะดำเนินกิจการพรรคการเมืองก็สามารถแสดงเจตจำนงต่อนาทะเบียนเพื่อออกหนังสือเชิญชวนผู้อื่นให้สมัครเป็นสมาชิกพรรค เมื่อสามารถรวมรวมสมาชิกพรรคได้ไม่น้อยกว่า 500 คนแล้วก็สามารถดำเนินการต่อในขั้นตอนที่สองได้ภายในเวลา 1 ปี
ขั้นตอนที่สอง คือขั้นตอนการจดทะเบียน เมื่อผู้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนมีเอกสารตามที่กฎหมายระบุไว้ ได้แก่ บัญชีรายชื่อพร้อมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพ ที่อยู่และลายมือชื่อของสมาชิกพรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่า 500 คน และรายละเอียดเกี่ยวกับข้อบังคับของพรรคการเมือง ครบถ้วนแล้ว ก็สามารถจดทะเบียนพรรคการเมืองต่อนายทะเบียนที่กระทรวงมหาดไทยได้
นอกจากนี้ในพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวยังได้มีบทบัญญัติบางประการเพิ่มเติมไปจากพระราชบัญญัติฉบับแรก เช่น การกำหนดให้พรรคการเมืองเป็น
นิติบุคคลภายหลังการจดทะเบียน (มาตรา 14) การกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง และเพิ่มหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้นเกี่ยวกับจำนวนสมาชิก องค์กรบริหารจัดการ และผลการเลือกตั้ง โดยพรรคการเมืองจะต้องยุบเลิกถ้าจำนวนสมาชิกลดลงต่ำกว่า 500 คนหรือสมาชิกของพรรคไม่ได้รับการเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปติดต่อกัน 2 ครั้ง (เชาวนะ ไตรมาศ, 2540 :หน้า 39-40) เป็นต้น
การยกเลิก

พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511 ถูกยกเลิกโดยประกาศของคณะปฏิวัติ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น